วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดคูหาสวรรค์

วัดคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเชิงเขาคูหาสวรรค์ (เขาหัวแตก) ตำบลคูหาสวรรค์ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อยู่ห่างจากสถานีรถไฟพัทลุงไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร และอยู่ห่างจากโรงภาพยนต์แกรนด์พัทลุงไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร มีถนนจรูญธรรมเชื่อมต่อประตูวัดกับถนนราเมศวร์

วัดคูหาสวรรค์ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดคูหาสูง” หรือ “วัดสูง” เนื่องจากบริเวณวัดตั้งอยู่เชิงเขาเป็นที่สูง เป็นวัดโบราณที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยใดแน่ แต่ตามตำนานนางเลือดขาวระบุว่า เมื่อตายายคือตามสามโมกับยายเพชรถึงแก่อนิจกรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวได้นำอัฐิของท่านทั้ง 2 ไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ ตามทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ก็กล่าวว่าวัดคูหาสวรรค์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1924

ส่วนข้อความในหนังสือพระกัลปนาวัดสมัยอยุธยาชี้บ่งว่า พระราชมุนีร่วมมือกับพระครูสัทธรรมรังษี พระมหาเถรพุทธรักขิต พระครูบุตรเทพ และหมื่นเทพบาล สร้างวัดในถ้ำคูหาสวรรค์ในที่ราบขุนศรีชนาพยาบาล และก่อพระพุทธรูป 20 องค์ สร้างพระเจดีย์ 7 องค์ แล้วถวายพระกุศลเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชตำราตราโกษาธิบดียกญาติโยมและที่ภูมิสัตว์ไร่นาอันมีในที่นั้น 12 หัวงาน ขาดออกจากส่วยหลวง เป็นศีลบาลทานพระกัลปนาสำหรับวัดคูหาสวรรค์

อยู่ต่อมาเมื่อออกเมืองคำออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง อุยงคตะนะโจรสลัดมาเลย์ยกกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นเมืองพัทลุง ได้เผาผลาญบ้านเรือนวัดวาอารามขึ้นมาถึงตำบลคูหาสวรรค์ จึงเข้าใจว่าวัดคูหาสวรรค์อาจถูกทำลายไปด้วย จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดคูหาสวรรค์จึงได้รับการบูรณะใหม่

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2432 ได้มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่ มีการปรับปรุงพื้นที่วัดเพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. 108 ตอนหนึ่งว่า

“เขาคูหาสวรรค์ที่ไปนั้น เมื่อจะเข้าเขตวัดมีสระ ๆ หนึ่ง ว่าน้ำจืดสนิท แต่เวลานี้น้ำแห้ง มีถ้ำอยู่ที่ลูกเขาข้างหน้าเป็นโพรงเล็ก ๆ มีพระพุทธรูปขึ้นไปบนชานชั้นบนอีกชั้นหนึ่งสูงสัก 7 – 8 ศอก เป็นที่ราบกว้างสัก 30 วา มีต้นไม้ใหญ่ปลูกรายรอบ ร่มรื่นดีที่กลางลานนั้น ยกพื้นอีกชั้นหนึ่งสูงสักศอกหนึ่ง มีโบสถ์ 3 ห้อง ไม่มีฝาผนังอย่างโบสถ์บ้านนอกข้างหัวเมืองตะวันตกทั้งปวง มีพระประธานใหญ่ ที่ลานชั้นกลางมีการเปรียญและกุฏิพระสงฆ์ ปลูกพลับพลาประทับร้อนที่บนนั้น ว่าข้างภูมิที่ท่วงทีเขาดีอย่างยิ่ง เหมือนเรานึกทำเล่น ถ้าจะทำเป็นวัดหลวง จะงามกว่าวัดมหาสมณรามมาก ขึ้นเนินลาด ๆ ไปอีกหน่อยหนึ่งถึงปากถ้ำที่ปากถ้ำนั้นก็มีเทือกเขาบัง ต้องเดินเฉียงเข้าไปเหมือนกัน ถ้ำยาวสัก 15 วา ข้างแคบ ๆ กว่าหน่อยหนึ่ง แสงสว่างเข้าได้เต็มหน้าเพราะปากช่องใหญ่ ถ้ำนี้เรียกว่าถ้ำน้ำเงิน เพราะน้ำซึมตระไคร้จับเขียวไปทั้งถ้ำ มีพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่องค์หนึ่ง นั่งใหญ่องค์หนึ่ง ย่อม ๆ ลงมา 26 องค์ พระพุทธรูปนั้นก็น้ำเงินไปด้วยกันโดยมาก ข้างหลังพระมีปล่องลงไปได้ลึก จนถึงพื้นล่างมีน้ำในนั้น ทำนองถ้ำหมีแควป่าสัก แต่มืดต้องจุดเทียน ได้จารึกอักษร จ.ป.ร. ไว้ที่เพิงหน้าถ้ำอีกแห่งหนึ่ง แล้วเดินทางกลับลงมาเลี้ยวไปตามทางข้างเขาอีกหน่อยหนึ่งถึงถ้ำนางคลอด ปากถ้ำสูงประมาณ 4 วา เป็นเวิ้งเข้าไปตื้น ๆ ไม่อัศจรรย์อันใด”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น