วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดพระเกิด


วัดพระเกิด
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร หรือห่างจากสถานีรถไฟควนเคี่ยมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร มีถนนลูกรังติดต่อกันได้ตลอดถึงวัด มีคลองพระเกิดไหลผ่านทางทิศตะวันตกของวัด ปัจจุบันทางทิศเหนือของวัดมีคลองพระกิดขุดใหม่ไหลผ่านไปออกทะเลสาบสงขลาทางทิศใต้ของบ้านบางมวง

วัดพระเกิด หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดเกิด” เป็นวัดโบราณเก่าแก่มีอายุหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อ ๆ กันมาว่า กาลนานมาแล้ว มีตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ได้มาอาศัยทำไร่ทำนาถากถางป่า แล้วทำการเผาไม้ แต่เผาเท่าไร ๆ ไฟก็ไม่ไหม้ตายายทั้ง 2 เกิดสงสัยว่าน่าจะมีอะไรอยู่ใต้พื้นดิน จึงขุดลงไปพบพระพุทธรูปทองคำ และเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นมาเอง ต่อมาตายายได้สร้างวัดขึ้น ให้ชื่อว่า “วัดพระเกิด”

มีบางตำนานว่า นางเลือดขาวได้โดยสารเรือสำเภาผ่านเข้ามาทางคลองฝาละมีเรือได้อัปปางลงใกล้ ๆ กับสถานที่แห่งหนึ่ง เรียกว่า “สวนจีน” นางเลือดขาวขึ้นบกได้เดินทางต่อไป จนได้คลอดบุตรเป็นหญิงให้ชื่อว่า “นางพิมพ์” พร้อมกับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง เรียกว่า “วัดพระเกิด” ซึ่งหมายถึงที่เกิดหรือที่นางคลอดบุตรนั่นเอง

พงศาวดาร เมืองพัทลุงระบุว่า ตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมียอาศัยอยู่ที่บ้านพระเกิด เป็นหมอสดำเลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ปีละ 1 เชือก ต่อมาจึงเรียกว่า “ที่คช” หรือที่ส่วยช้าง แต่ไม่ได้กลาวถึงการสร้างวัด มีข้อสังเกตว่าเมื่อตายายทั้ง 2 เข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านพระเกิดนั้น บ้านพระเกิดคงเป็นชุมชนมาแล้ว ต่อมาเมื่อผู้คนอพยพเข้าไปอาศัยมากขึ้น จึงได้สร้างวัดขึ้นเป็นวัดประจำชุมชน เพื่อใช้ประกอบกิจทางศาสนา ซึ่งคงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 19 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ตามทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง ระบุว่า วัดพระเกิดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1939 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลายหรือสมัยอยุธยาตอนต้น
แต่ในเวลานี้หลักฐานที่จะพอสืบค้นได้ ปรากฏว่าเดิมวัดพระเกิดเป็นวัดร้างมาก่อนช้านานหลายปี ต่อมาราวสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 ได้มีการบูรณวัดขึ้นไม่ช้าวัดก็ร้าง จนปี พ.ศ. 2446 ได้มีพระสงฆ์ไม่ปรากฏนามบูรณะวัดขึ้นอีก

.ศ. 2478 มีพระแดง โชติโต มาจำพรรษาช่วยบูรณะวัด จน พ.ศ. 2484 พระแดงโชติโต ได้ย้ายไปสร้างวัดควนนางพิมพ์ พระท่อน ปภงสโร จึงเป็นผู้ดูแลวัดต่อมาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น